Friday, December 19, 2008

สับปะรดหนาม : จอมโหด







คือว่า วันนี้ไปสวนจตุจักรมาแล้วซื้อต้นสับปะรดหนามที่ร้านลุงวิชิตมาเลี้ยง คือว่าชอบมาก แต่ไม่รุ้ว่าจะหาสายพันธุ์อื่น ๆ ได้จากที่ไหนบ้าง แล้วตัวที่คุณ Fat Man เพาะได้ จะมีโอกาสนำออกมาขายบ้างรึเปล่าครับ คือว่าอยากได้อ่ะครับ

สับปะรดหนาม [27 ธ.ค. 2549]

แค่เห็นนามแฝงคุณ ก็ชนะใจผมแล้วหล่ะครับ !

ก็ผมชอบเจ้าพวกสับปะรดหนามจอมโหดนี่จริงๆ
ตอนนี้ที่ทั้งบ้านก็แทบจะใช้วาง xeric brom จดหมดทุกตารางนิ้ว
ตอนนี้ก็ร่วมๆ สองร้อยชนิดเข้าไปแล้ว
แต่ก็ดูจะยังไม่พอกับความสนใจ นี่ก็กำลังสั่งมาเพิ่มอีกสอง shipment
โบนัสปีนี้ไม่ได้เอาไปทำอย่างอื่นเลยจริงๆ !!!
ก็ไหนๆ จะเล่นจะเลี้ยงแล้ว ผมว่าก็ควรให้มันถึงที่สุดไปเลยจริงๆ น่ะ

ดีใจครับ ที่มีคนมาสนใจเล่นสับปะรดหนามด้วยเหมือนเรา
ก็จะได้มีเพื่อนไว้คุยเรื่องเดียวกัน ผมพล่ามอยู่คนเดียวนี่ก้เซ็งเหมือนกัน
ยังดีที่มีเพื่อนใน forum ที่เมืองนอก ที่เขาเล่นพวกนี้อยู่บ้าง
ไม่งั้นผมเองคงไม่รู้จะไปพุดคุยกับใครเหมือนกัน
วันเสาร์อาทิตย์ไหนสะดวกก็เชิญแวะมาดูที่บ้านผมก็ได้ครับ
ติดต่อนัดหมายผ่านอีเมลก็ได้ คิดว่าคงสะดวกน่ะครับ

ลองดูก่อนว่าสนใจความโหดระดับไหน
เพราะมีตั้งแต่พวกใบนิ่มๆ หนามอ่อนๆ ไปจนแบบเข้าใกล้ไม่ได้ เพราะเลือดสาดทุกครั้งที่จับครับ !

นี่พวกสกุล Orthophytum ส่วนใหญ่ใบนิ่ม หนามไม่แข็ง




นี่พวกสกุล Dyckia อย่างที่คุณได้มาจากร้านคุณลุงวิชิต
ซึ่งมีความหลากหลายที่สุดในกลุ่มสับปะรดหนาม
มีทั้งพวกพันธุ์แท้ และลูกผสม รวมๆแล้วมีมากกว่า500 พันธุ์
ผมเองเพิ่งเก็บมาได้ราว 50-60 เองครับ








นี่พวกสกุล Hechtia ที่จัดว่าหนามโหดที่สุดในกลุ่มสับปะรดหนาม
บ้านเรามีสกุลนี้เล่นกันมานานแล้ว แต่เป็นตัวพื้นๆ 1-2 ชนิด
แต่ผมชอบมาก หนามมันโหดดี ทำให้เรามีสติตลอดเวลา
เพราะเวลาจะหยิบจะจับก็จะต้องทำสมาธิไปในตัว
ว่า..."หนามหนอ ตำหนอ เลือดหนอ หุ หุ"


ขอบคุณ ครับคุณ Fat Man คือผมไม่มีความรู้อะไรเลยที่จะสามารถคุยกับคุณป้องให้สนุก เพราะว่าเพิ่งเริ่มมีกับเค้า คงทำได้แค่เพียงให้คุณ Fat Man ให้คำแนนนำและความรู้ต่าง ๆ ครับ ยังไงจะพยายามเรียนรู้นะครับ รบกวนขอ E-Mail ด้วยครับ และรบกวนสอบถามอีกอย่างว่าราคาของมันตัวทั่ว ๆ ไปราคาประมาณเท่าไรอ่ะครับ จะได้เริ่มเก็บเงินถูกครับ ขอบคุณมากนะครับ

สับปะรดหนาม [28 ธ.ค. 2549]
โทษทีครับ...ถ้าลงโปรแกรมเอาท์ลุ๊กเอ็กเพรสไว้ก็คลิ๊กที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ ข้างชื่อผมด้านล่างได้เลย
แต่ลืมไปว่าบางทีคุณอาจไม่มีโปรแกรมนั้น นี่อีเมลผมครับ
chaninthorut@yahoo.com

ป้อง [28 ธ.ค. 2549]

ต้นสุดท้ายสวยโดนใจมากครับ อิอิ เพลย์บอยบางบอน [28 ธ.ค. 2549]
****************




เพิ่งผ่านบทฝึกสติมาเหมือนกัน
กว่าจะแยกกอเสร็จ โดนทิ่มไป
หลายที สวยแบบเจ็บ ๆ


Rhapis [28 ธ.ค. 2549]



กว่าจะเสร็จต้องใช้เวลาตั้งหลายวัน
ทำวันละหน่อยพอเจ็บ ๆ คัน ๆ

Rhapis [28 ธ.ค. 2549]



ต้นนี้พี่ป้องคุ้น ๆ ไหมกว่าจะจับเจ้า
ยักษ์ต้นนี้ลงกระถางได้โดนไปหลาย
ทีเลย ลืมไปยังไม่ได้ถามชื่อต้นนี้เลย
พี่ป้องช่วยบอกหน่อย


Rhapis [28 ธ.ค. 2549]

เขาคือ Hechtia rosea ครับ ที่ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะดอกมีสีแดง
ต่างจาก Hechtia ส่วนใหญ่ที่มักมีดอกสีดอกออกขาวๆ หรือไม่ก็ม่วงอ่อนๆ ครับ

ป้อง (Fat Man) [29 ธ.ค. 2549]

ดีใจจังที่รู้ว่ามีเพื่อนเล่นไม้อวบน้ำประเภทสับปะรดหนามทนแล้งเพิ่มอีกหนึ่งท่าน
และดูท่าจะมีเยอะไม่ใช่เล่นน่ะครับนั่น อย่างต้นใบกว้างๆในภาพที่สองจัดเป็นชนิดที่หายาก
และเพิ่งจะมีออกมาในตลาดต้นไม้ที่อเมริกาเมื่อปีสองปีนี้เอง
เขาคือ Hechtia glauca ต้นนี้ถ้าเลี้ยงอดๆ น้ำ ไว้ที่แดดจัดๆ และได้อากาศเย็นๆ ตอนกลางคืนหน่อย


ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีขอบแดงเข้ม สวยสุดๆ
อันที่จริงสกุล Hechtia ส่วนใหญ่ก็จะมีสีใบสวยงามแบบน่าตะลึงจริงๆ ถ้าได้สภาพการเลี้ยงเช่นที่ว่า
ก็คงเป็นการชดเชยความโหดแบบที่ท่าน Rhapis ว่า "สวยแบบเจ็บๆ" ครับ

นี่เป็นภาพ Hechtia ตัวที่บ้านเราก็มีเลี้ยงกันอยู่นานแล้ว เป็นภาพในถิ่นกำเนิดที่เม็กซิโก
ลงไว้ในวารสารของสมาคม cactus & succculent of America (CSSA) สวยจนพูดไม่ออกเลยหล่ะครับ


ป้อง [28 ธ.ค. 2549]








ถามชื่ออีกสักสองสามต้นละกันนะ
ต้นนี้สีแดงแล้วขุยขาว ๆ ที่เกาะอยู่ที่
ใบเรียกว่าอะไร มันเอาไว้ทำอะไรอะ

Rhapis [29 ธ.ค. 2549]


ท่านมีตัวแปลกๆ ทั้งนั้นเลยครับ...
ต้นที่อยู่ในข้อความที่10 ผมทราบแต่ว่าเป็นสกุล Orthophytum
แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นตัวเดียวกับที่รัง Michael's Bromeliad

ในฟลอริดา
เรียกว่าตัว

"sp. silver leaves from Burle Marx Garden"

หรือเปล่า
ผมเองก็ได้มาทั้งตัวที่สั่งจากอเมริกา

แล้วก็ตัวที่ท่านนำมาถามซึ่งได้มาจากเพื่อนปักษ์ใต้ของเราเช่นกันครับ
ใบมันดูคล้าย แต่ก็ยังไม่เหมือนซะทีเดียว ต้องรอดูอีกซักพักครับ



ป้อง [28 ธ.ค. 2549]


ต้นนี้ใบจะแคบเรียว ใบสีเขียวแต่ว่าขุย
สีขาวจะแน่นจนดูเหมือนต้นมันสีขาวเลย

Rhapis [29 ธ.ค. 2549]



ส่วนต้นในข้อความที่ 11 คือ

Hechtia marnier-lapostollei
ซึ่งอย่าไปจำสลับกับสับปะรดหนามอีกตัวที่ชื่อชนิดเดียวกันเลยคือ
Dyckia marnier-lapostollei

เนื่องจากตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับบุคคลคนเดียวกันครับ
ตนนี้เลี้ยงงามๆ จะมีปุยขาวบนใบที่เรียกว่า trichome

ซึ่งในพวกสับปะรดหนาม จะช่วยทำหน้าที่ป้องกันแสงแดดอันร้อนแรง
และลดการคายน้ำ

อาจดูดความชื้นบ้าง แต่ไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างพวกสับปะรดอากาศแท้ๆ
นั่นคือพวกสกุล Tillandsia ที่รับน้ำและอาหารทางผิวใบได้โดยตรง
แต่พวกสับปะรดหนามทนแล้งยังจำเป็นต้องดูดน้ำ ดูดอาหารกินทางรากครับ
จากนั้นก็เอามาสะสมไว้ในใบที่อวบอิ่มน้ำ เพื่อตุนไว้ใช้ยามหน้าแล้ง
และการที่มีใบอวบอิ่มน้ำน่ากินอยู่ท่ามกลางดินแดนแห้งแล้ง

หรือทะเลทรายเช่นนี้
ธรรมชาติจึงวิวัฒนาการให้พวกนี้มีหนามแหลมคม

เพื่อป้องกันสัตว์มากัดกินนั่นเอง

ป้อง [28 ธ.ค. 2549]







นี่คือเจ้าต้น

Hechtia marnier-lapostollei

ป้อง [28 ธ.ค. 2549]




ลองเปรียบเทียบกับเจ้าพวกนี้ที่เป็น

Dyckia marnier-lapostollei
ซึ่งมีความหลากหลายในรูปทรงมากทีเดียว





ในธรรมชาติ พวกสับปะรดหนามส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง
อย่างพวกสกุล Hechtia ในแถบตอนใต้ของสหรัฐและประเทศเม็กซิโก ก็จะขึ้นอยู่ตามซอกผาหิน
ปะปนอยู่กับพวกไม้อวบน้ำอื่นๆ เช่น Agave และ กระบองเพชร

อย่างในภาพนี้เป็นชนิดที่ยังไม่ทราบชื่อ ซึ่งเพื่อนที่เยอรมันไปเจอมาแล้วส่งภาพมาให้ดู
สีใบของเค้าสวยมากตอนอยู่ในป่า แต่ถ้าเรานำมาเลี้ยงในสภาพโรงเรือน
ไม่รู้ว่าจะยังสวยแบบนี้มั๊ย




ส่วนต้นนี้ใบกว้าง สีเงินสวยดีเหมือนกัน



ทิพย์ว่าสีตอนอยู่ในป่าสวยกว่าตอนเอามาเลี้ยงนะค่ะธรรมชาติเค้าสร้างสรรค์ได้ดีจริงๆ...
เห็นแล้วอยากโดนหนามเกี่ยวบ้างจัง.....แต่ตอนนี้ที่มีอยู่ 5 ต้นก็ไม่อยากเข้าใกล้แล้ว....555


ทิพย์ [31 ธ.ค. 2549]




ที่จริงถ้าเราหาที่ตั้งวางให้เจ้าสับปะรดหนามได้แดดเต็มที่ และเลี้ยงแบบอดๆ หน่อย
เค้าก็พอจะขึ้นสีบนใบให้ได้อย่างเจ้าต้นนี้ครับ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ในบ้านเรานานแล้ว
เขาคือ Hechtia glomerata ที่ทั่วๆไปจะเลี้ยงได้ใบเขียว ๆ
ลองย้ายไปตากแดดจัดๆ และแถมมีอากาศเย็นๆ ช่วยตอนกลางคืนจะได้สีสวยแบบนี้ครับ


สำหรับเพื่อนๆที่กำลังเสาะหาพันธุ์พวกสับปะรดหนามบางชนิดมาลองเลี้ยงเล่น
ผมอยากแนะนำว่าถ้าชอบเลี้ยงไม้มาจากการเพาะเมล็ดขึ้นมาเอง
จะมีบริษัทขายเมล็ด cactus & succulent ของเยอรมัน
ที่มีเมล็ด Dyckia, Hechtia, Orthophytum หลายชนิดขาย
อยู่ใน list ส่วนที่ป็น succulent ถ้าสนใจลองเปิดดูและดาว์นโหลด catalog มาสั่งได้

http://www.koehres-kaktus.de/index1gb.htm

ผมเองเคยสั่งมาเพาะปีที่แล้วก็งอกออกมาดีเหมือนกัน ตอนนี้ได้ต้นขนาดหนึ่งนิ้วแล้ว
รอลุ้นอยู่ว่า ตอนโตจะหน้าตาสะสวย หรือน่าเกลียดแค่ไหน

พวกสับปะรดหนามตอนงอกมาได้ราวๆ สองสามเดือนกว่าๆ ยังไม่มีหนาม






นี่เป็นชุดสับปะรดหนามไม้เพาะเมล็ดที่สั่งมาจากเยอรมันเมื่อปีที่แล้ว
พวก Hechtia ส่วนใหญ่ขึ้นดีทีเดียว คืองอกราว 50-80 %
ตอนนี้โตกว่าในรูปนี้พอควร และแยกออกไปปลูกในกระถางนิ้วแล้ว






ลืมเล่าให้ฟังเกี่ยวกับวัสดุเพาะเมล็ดไป !
ที่จริงเมื่อก่อนเคยเพาะเมล็ดเจ้าพวกสับปะรดหนามโดยใช้ทรายปนขุยมะพร้าว
แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล คือเมล็ดงอกน้อยแถมขึ้นราเสียหายหมด และยังเกิดตระไคร่ก็ง่าย
มีอยู่วันหนึ่งไปเยี่ยมเยียนคุณอาวิชิต ทันด่วน หนึ่งในผู้ใหญ่
ซึ่งเป็นที่เคารพรักของวงการกระบองเพชร ที่บางแสน ชลบุรี
ผมไปเห็นท่านเพาะเมล็ด Dyckia ที่ติดเมล็ดเองที่รังของท่านไว้เต็มเลย
และสังเกตเห็นว่าทุก pot งอกงามดีมาก จึงสอบถามดูว่าใช้อะไรเพาะ
ก็เลยได้เคล็ดมาจากคุณอาวิชิตว่า ท่านใช้ "ดินเพาะเมล็ด" ของเกียไต๋ (ไม่ได้โฆ...น่ะ)
ซึ่งที่จริงไม่ใช่ดิน แต่เป็นพีทมอสบดผสมบรรจุถุงสำเร็จรูป
และส่วนใหญ่อาวิชิตก็ใช้สูตรนี้เพาะพวก Haworthia และ cactus ด้วยเช่นกัน

โดยปกติผมไปหาซื้อดินพีทที่ว่าได้จากร้านแถวตลาดซันเดย์ ที่ขายเคมีเกษตร ปุ๋ยยา ฯลฯ
อย่างเช่นร้านวรพงษ์ ร้านKU Garden หรือร้านทองคำใกล้สถานีรถใต้ดินในเจเจก็มีขาย
ถุงนึง 40 บาท ราคาอาจลดได้เป็นสามถุงร้อย
ดินพีทนี้สะดวกตรงที่ไม่ต้องมาอบฆ่าเชื้ออีก ใช้ได้ทันที
เพียงใส่ในกระถางเพาะ ใช้ก้นกระถางอีกใบเป็นตัวเกลี่ยและกดให้หน้าผิวดินเพาะเรียบ
จากนั้นก็โรยเมล็ดให้ไม่หนาแน่เกินไป

ในกรณีเมล็ดสับปะรดหนาม เราไม่ต้องกลบเมล็ด
จากนั้นก็ใช้ยากันเชื้อราผสมน้ำพ่นด้วยฟ็อกกี้จนชุ่ม
ใส่กระถางเพาะไว้ในกล่องพลาสติกปิดฝาให้ความชื้นสูงคงที่
กล่องควรเป็นแบบที่แสงผ่านเข้าได้พอประมาณ แต่ไม่ใช่ใสแจ๋ว
ตั้งไว้ในที่ร่มแต่ไม่มืด ถ้าได้รับแสงเช้าได้ยิ่งดี
หากเมล็ดมีคุณภาพ พียงอาทิตย์กว่าๆ สับปะรดหนามต้นจิ๋วๆ ก็จะงอกออกมาให้เราชื่นชม
รอจนต้นโตออกใบเขียวๆได้สามสี่ใบจึงเริ่มพ่นปุ๋ยทางใบสูตรเสมอแบบเจือจาง

เมื่อไม้โตเบียดกันล้นขึ้นเหนือขอบกระถางเพาะ เราก็ค่อยๆแยกเจ้าสับปะรดน้อย
ออกปลูกใน pot รวม หรือจะแยกลงกระถางนิ้วก็แล้วแต่ความขยัน
เพียงปีกว่าๆ ถึงสองปี เราก็จะมีสับปะรดหนามแสนสวยไว้เลี้ยงเล่นและแจกจ่ายเพื่อนฝูงแล้ว
และหากโชคดีอาจได้ต้นด่างหลุดมาอย่างต้นนี้
หุ..หุ ไม่ใช่ของผมหรอกครับ เป็นของเพื่อนที่อังกฤษ
ถ้าต้นนี้เข้า e-bay หล่ะก็ บอกได้คำเดียว...กระฉูด !


ป้อง (Fat Man) [1 ม.ค. 2550]










No comments: